ด้วยลักษณะของสังคมที่มีความเป็นสากลมากขึ้น ในแต่ละประเทศก็ย่อมมีการปรับเปลี่ยนลักษณะทางวัฒนธรรมให้เข้ากับปัจจุบันมากขึ้น ถ้าจะพูดถึงพิธีแต่งงานในปัจจุบัน หลายๆ คนก็คงจะนึกถึงการใส่ชุดราตรีเฉลิมฉลองกับคู่รักคู่ใหม่ภายใต้แสงจันทร์โรงแรมหรู จัดเลี้ยงด้วยอาหารฟิวชั่น ซึ่งก็ไม่มีพิธีการอะไรมากมายนอกจากการเต้นรำ และพิธีตัดเค้ก ซึ่งจะแตกต่างจากประเพณีแต่งงานแบบไทยเดิม ซึ่งเป็นประเพณีที่มีความละเอียดอ่อน และเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งวันนี้ Onewiwa จะขอยกส่วนประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่งในประเพณีการแต่งงานแบบไทยนั่นก็คือ “พิธีแห่ขันหมาก”

พิธีแห่ขันหมากคืออะไร และมีที่มาอย่างไร
การจัดขันหมากเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในพิธีแต่งงานแบบไทย โดยฝ่ายชายจะเป็นผู้เตรียมจัดขบวนแห่พร้อมด้วยพานขันหมากต่าง ๆ มาบ้านฝ่ายหญิงในวันแต่งงาน ประวัติที่มาของพานขันหมากนั้นมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยที่สมเด็จพระร่วงเจ้าได้ทรงบัญญัติว่า “ถ้าชาวไทยทำการรับแขกเป็นสนามใหญ่มีการอาวาห์มงคลหรือวิวาห์มงคลแล้ว
ให้ร้อยกรองดอกไม้เป็นรูปพานขันหมาก และให้เรียกว่า ‘พานขันหมาก’”
ส่วนประกอบของขันหมาก
ส่วนประกอบที่อยู่ในขันหมากจะมีความแตกต่างกันเล็กๆ น้อยตามค่านิยมของแต่ละท้องถิ่น แต่รูปตามแบบฉบับฝีมือชาววังที่นิยมทำกันนั้น มี 2 แบบ คือ แบบใช้พลูจีบ กับแบบที่ไม่ใช้พลูจีบ จะมีการใส่หมากพลูเป็นจำนวนคู่ อย่าง คู่ 4 หรือ คู่ 8 นำมาจัดเรียงให้สวยงาม ซึ่งหมากพลูก็เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความเป็นมิตรนั่นเอง
พานขันหมากเอก เป็นพานบรรจุของมงคลที่ฝ่ายชายจะต้องเตรียมมามอบให้ฝ่ายหญิงง ประกอบด้วย พลู 2 พาน ในพานจะมี หมาก 8 ผล, พลู 4 เรียง ๆ ละ 8 ใบ, ถุงเงิน 2 ใบ, ถุงทอง 2 ใบ ข้างในบรรจุ ถั่วเขียว, งาดำ, ข้าวเปลือก, ข้าวตอก และซองเงิน 1 ซอง
- พานสินสอด
- พานแหวนหมั้น(ในหรณีที่ยังไม่มีการหมั้น)
- พานธุปเทียนแพ ประกอบด้วยธูป เทียนแพ และกระทงดอกไม้ ธูปเทียนแพที่ถูกต้องและเป็นสิริมงคลต้องเรียงลำดับให้ถูกต้อง โดยเริ่มจากแพเทียนอยู่ล่างสุด วางธูปแพเหนือแพเทียน และวางกระทงดอกไม้บนสุดเหนือแพธูป
- พานผ้าสำหรับไหว้ผู้หใญ่
- พานเชิิญขันหมาก(เจ้าสาวเป็นคนเตรียม)
- ร่มสีขาว ให้เถ้าแก่ถือ
- ช่อดอกไม้เล็กๆ
- พานต้นกล้วย 1 คู่ ต้นอ้อย 1 คู่ เพิ่มความเป็นสิริมงคล
พานขันหมากโท(ขันหมากบริวาร)
- พานขนมมงคล 9 อย่าง ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ทองเอก ขนมจ่ามงกุฎ ขนมเสน่ห์จันทร์ ขนมลูกชุบ ขนมหม้อแกง ขนมข้าวเหนียวแดง ขนมข้าวเหนียวแก้ว หรือขนมชั้น
- พานไก่ต้ม พานหมูนอนตอง (หมูสามชั้นต้มแล้วนำไปวางบนใบตอง)
- พานวุ้นเส้น 1 คู่
- พานมะพร้าว 1 คู่
- พานกล้วยหอม ต้องใส่เป็นคู่ และส้ม 1 คู่
- พานส้มโอ 1 คู่
- พานชมพู่ 1 คู่
- พานขนมเสน่ห์จันทร์ หรือขนมเปี๊ยะ 1 คู่
- พานขนม เพื่อแจกให้ญาติผู้ใหญ่(ไม่จำกัดประเภทขนม)
พานเครื่องเซ่นไหว้บรรพบุรุษ
- ธูป 5 ดอก
- เทียน 2 เล่ม
- มะพร้าวอ่อน 1 คู่
- กล้วยน้ำว้า 2 หวี
- ไก่ต้ม 1 ตัว
- หมูนอนตอง 1 ที่
- เหล้า 1 คู่
- ผ้าขาว 1 พับ
พิธีแห่ขันหมาก
ขบวนแห่ขันหมาก ฝ่ายชายจะเป็นผู้เตรียมสิ่งของมายังบ้านฝ่ายหญิงในวันแต่งงาน โดยจะมีการจัดขบวน ดังนี้
ขบวนกลองยาวนำหน้าเพื่อสร้างความครึกครื้น ตามด้วยขบวนขันหมากเอก-ขันหมากโท
1. เถ้าแก่และเด็กนำขันหมาก (เด็กผู้ชาย) โดยในตอนเริ่มขบวนเฒ่าแก่จะอยู่เรียงต่อจากเจ้าบ่าว แต่เมื่อเดินทางมาใกล้ถือหน้าบ้านเจ้าสาว เถ้าแก่ก็จะเป็นฝ่ายออกมารับหน้า ซึ่งถือว่าเป็นตัวแทนเจ้าบ่าว
2.เจ้าบ่าวถือช่อดอกไม้เล็ก ๆ หรือพานธูปเทียนแพรก็ได้ ซึ่งเมื่อเริ่มแห่ ขบวนตอนแรกเจ้าบ่าวขบวนอยู่หน้าสุดของขบวน ตามด้วยเฒ่าแก่ ส่วนต้นกล้วยและต้นอ้อยที่เดินตามเจ้าบ่าวมานั้น เมื่อขบวนเคลื่อนย้ายมาถึงหน้าบ้านแล้ว ให้มาอยู่หลังสุด ก่อนขบวนรำ
3. คนถือซองเงิน พ่อแม่เจ้าบ่าว
4. คู่ต้นกล้วย-ต้นอ้อย
5. ขันหมากเอก (ญาติผู้ใหญ่ถือ)
6. คู่พานขันหมากพลู
7. พานขันหมากเงินสินสอด พานทองหมั้น
8. พานแหวนหมั้น พานธูปเทียนแพ
9. คู่พานผ้าไหว้
10. ขันหมากโท (ญาติหรือเพื่อนถือ)
11. คู่พานขาหมู
12. คู่พานวุ้นเส้น
13. คู่พานมะพร้าว
14. คู่พานกล้วยหอม-ส้ม-ชมพูเพช
15. คู่พานส้มโอ
16. คู่พานขนมมงคล 9 อย่าง
17. คู่พานขนมเสน่ห์จันทร์หรือขนมเปี๊ยะ
18. คู่พานขนมกล่อง
19. ขบวนรำ
ขั้นตอนพิธีแห่ขบวนขันหมาก
1.ตั้งขบวนให้ห่างจากบ้านฝ่ายหญิงระยะหนึ่ง และให้เจ้าบ่าวโห่ร้อง 3 ครั้ง เพื่อให้สัญญาณว่าขันหมากพร้อมแล้วที่จะเคลื่อนขบวนไปบ้านเจ้าสาว
2.เมื่อขบวนขันหมากมาถังยังบ้านเจ้าสาวหรือสถานที่จัดงาน ก็จะมีการโห่ร้องรับกันอีก 3 ครั้ง และมีเด็กผู้หญิงของทางฝ่ายเจ้าสาวถือพานหมากที่จัดไว้เป็นคู่มาต้อนรับ และมารับพานดอกไม้ธูปเทียนจากเจ้าบ่าว
3.ญาติเจ้าสาวจะมาคอยทำพิธีกั้นประตู โดยจะยืนเป็นคู่ ถือผ้าแพรหรือสร้อยเงินสร้อยทองเพื่อกันไม่ให้เจ้าบ่าวเข้าไปหาเจ้าสาวได้ หากจะเข้าไปต้องจ่ายค่าธรรมเนียมแก่ผู้เฝ้าประตู